7 ขั้นตอน ในการขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนบ้านและที่ดิน
การกู้เงินมาการลงทุนในธุรกิจบ้านและที่ดินหรือการขอสินเชื่อบ้านเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นวิธีปฏิบัติที่นิยมนำมาใช้กันอย่างมาก โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินมาลงทุนในบ้านและที่ดิน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งให้ได้ผลตอบแทนหรือเพิ่มมูลค่าการลงทุนให้ขยายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ สำหรับเงื่อนไขสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินต่างๆมีเงื่อนไขหลักคล้ายคลึงกัน 7 ขั้นตอนในการขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนบ้านและที่ดิน คือประเด็นที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของสถาบันการเงิน ดังนี้
1.วัตถุประสงค์ในการให้สินเชื่อ วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงิน ต้องเกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยเป็นสำคัญ เช่น ขอกู้เพื่อนำมาซื้อบ้าน ขอกู้เพื่อนำมาสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง หรือขอกู้เพื่อนำมาต่อเติมหรือปรับปรุงบ้าน
2.คุณสมบัติของผู้กู้ ผู้ที่สามารถยืนเรื่องขอกู้ต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว และไม่มีประวัติเสียหายทางการเงิน มีรายได้ประจำแน่นอน อายุปัจจุบันของผู้กู้รวมกับระยะเวลาการผ่อนชำระสำหรับผู้มีรายได้ประจำจะต้องไม่เกิน 60 ปี และสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องไม่เกิน 65 ปี
3.ทำเลที่ตั้งและหลักประกัน สถานที่ตั้งต้องอยู่ในแหล่งชุมชน หรือในโครงการบ้านจัดสรรที่ได้รับอนุญาต มีสาธารณูปโภคพร้อม ทั้งนี้ต้องทำจำนองหลักประกัน ทำประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างโดยให้สถาบันการเงินเป็นผู้รับผลประโยชน์
4.วงเงินที่ให้กู้ยืม สำหรับวงเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านและที่ดิน ซื้อทาวน์เฮ้าส์ ซื้ออาคารพาณิชย์ อาคารชุด หรือซื้อที่ดินสำหรับปลูกสร้างที่อยู่อาศัยให้กู้ไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ของราคาประเมิน สำหรับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของตนเอง กู้ยืมได้ไม่เกิน 100 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมิน ส่วนการต่อเติมปรับปรุงบ้านหรือการรีไฟแนนซ์ กู้ได้ไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินใหม่
5.เงื่อนไขการผ่อนชำระ เงื่อนไขการผ่อนชำระไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้หลังหักภาระหนี้อื่นๆ และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดตามเงื่อนไขหลัก ดังนี้
– กู้เพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดิน กู้ซื้อทาวน์เฮ้าส์ ปลูกสร้างบ้านพักอาศัย รีไฟแนนซ์ หรือกู้ซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้าน ผ่อน ชำระไม่เกิน 30 ปี
– กู้ซื้ออาคารชุด ผ่อนชำระไม่เกิน 20 ปี
– กู้เพื่อซื้อที่ดินว่างเปล่า สำหรับปลูกบ้าน ผ่อนชำระไม่เกิน 10 ปี
– กู้เพื่อซื้ออาคารพาณิชย์ ผ่อนชำระไม่เกิน 15 ปี
– กู้เพื่อต่อเติมหรือปรับปรุงที่อยู่อาศัย ผ่อนชำระไม่เกิน 10 ปี
6.ค่าธรรมเนียม
– ค่าธรรมเนียมประเมินราคาหลักประกัน 1,500-2,500 บาท ค่าธรรมเนียมจัดการให้กู้ คิดในอัตรา 0-1 เปอร์เซ็นต์ ของยอดเงินกู้
– ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด กรณีคืนเงินกู้ก่อน 3 ปี คิดในอัตรา 0-2 เปอร์เซ็นต์
– ค่าประกันอัคคีภัยประมาณ 2,000 บาท สำหรับบ้านมูลค่า 1 ล้านบาท
– ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน เช่น ค่าธรรมเนียมจำนองร้อยละ 1 ของวงเงินกู้หรือมูลค่าการจดจำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
– ค่าอาการแสตมป์เสียในอัตรา 0.05 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินกู้ แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
7.อัตราดอกเบี้ย สำหรับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอาจแยกออกเป็น 6 ลักษณะ คือ
1) เงินกู้ดอกเบี้ยลอยตัว คือขึ้นลงได้อย่างเสรี ตามภาวะตลาด
2) อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้
3) อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรก จากนั้นเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
4) อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันได
5) อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่งและปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา
6) อัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้
7 ขั้นตอนในการขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนบ้านและที่ดิน เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของสถาบันการเงินที่กำหนดออกมาคล้ายคลึงกัน แต่ยังมีรายละเอียดและลักษณะที่แตกต่างกันอยู่ ซึ่งเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อตัวผู้กู้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินใดควรพิจารณาทุกเงื่อนไขอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง