9 ยุทธวิธี การลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ
วิกฤตการณ์เงินเฟ้อ มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนเราโดยตรง และภาวะเงินเฟ้อยังเป็นตัวบั่นทอนกำลังซื้อและค่าเงินให้ลดน้อยถอยลงซึ่งส่งผลให้คนจนลงเรื่อยๆ หากพิจารณาจะเห็นว่า เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นหรือลดลงได้ ดอกเบี้ยเป็นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประเภทหนึ่งที่เกี่ยวพันโดยตรงกับเงินเฟ้อ หรือภาวะที่เงินมีค่าน้อยลง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลต่อการลงทุนทั้งสิ้น
9 ยุทธวิธี การลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ
ปกติเงินเฟ้อเกิดขึ้นได้เสมอ โดยมีสาเหตุ 2 ประการใหญ่ๆด้วยกันคือ
- สาเหตุแรก มาจากความต้องการอุปโภคและบริโภคที่มีมากเกินไป เช่น มีการลงทุนมากเกินไปหรือมีการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น
- สาเหตุที่สอง มาจากภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องมาจากค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น วัตถุดิบ น้ำมัน สินค้านำเข้าสูงขึ้นหรือมีการปรับอัตราภาษีสูงขึ้น
แนวทางการลงทุนที่สามารถรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้ มีอยู่ด้วยกัน 9 ยุทธวิธี คือ
1. หลีกเลี่ยงการถือเงินสด หรือหลีกเลี่ยงการฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีความโน้มเอียงที่จะปรับตัวช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อเสมอ ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ
2. เร่งใช้จ่ายซื้อของใช้จำเป็นหรือซื้อทรัพย์สินเพื่อการลงทุนแทนการเก็บหรือถือเงินสด เป็นการเปลี่ยนจากการถือเงินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่กำลังลดค่าลง โดยเปลี่ยนไปถือทรัพย์สินที่กำลังเพิ่มค่าแทน
3. เน้นการลงทุนในตราสารทางการเงินระยะสั้นๆ หลีกเลี่ยงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้หรือตราสารทางการเงินระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยคงที่ เนื่องจากดอกเบี้ยอาจปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต
4. หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น ในสภาพที่เงินเฟ้อสูง ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯจะได้รับผลกระทบซึ่งทำให้หุ้นมีราคาตกลง การลงทุนจึงมีโอกาสประสบภาวะขาดทุนสูง
5. เน้นลงทุนในบ้านและที่ดิน การลงทุนในบ้านและที่ดินเหมาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์เพราะในช่วงที่เงินเฟ้อสูง ราคาบ้านและที่ดินรวมถึงค่าเช่าจะขยับตัวสูงขึ้นตาม
6. เน้นการกู้เงินให้ยาวที่สุดด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อรอรับผลประโยชน์จากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
7. ลงทุนในทองคำ ทองคำเป็นทรัพย์สินมีค่ามีอยู่จำกัด การลงทุนในทองคำเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในช่วงภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งในช่วงนี่ราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ
8. ลงทุนในหุ้นของบริษัทน้ำมัน เนื่องจากหุ้นเหล่านี้จะมีผลประกอบการดีเยี่ยม แม้หุ้นภาคธุรกิจอื่นจะตกลงก็ตาม
9. ลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในสินค้าโภคภัณฑ์ ในภาวะที่เงินเฟ้อสูงๆ จะเป็นช่วงที่สินค้าโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทนเด่นชัดเป็นพิเศษ สามารถใช้เป็นช่องทางการลงทุนในช่วงภาวะเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี
9 ยุทธวิธีการลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ เป็นทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนที่สามารถใช้รับมือกับภาวะวิกฤตในช่วงที่การลงทุนมีความเสี่ยงสูง สำหรับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงแม้เงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนในทุกรูปแบบ แต่กลับส่งผลดีต่อธุรกิจในบ้านและที่ดินเพราะทำให้ราคาบ้านและราคาค่าเช่าสูงขึ้น