วิธีฝ่าวิกฤต เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว
จากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนส่วนหนึ่งต้องเผชิญกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอที่จะผ่อนชำระค่าบ้าน หากปล่อยปัญหานี้ไว้โดยไม่ได้มีการแก้ไข ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจทำให้ถูกฟ้องร้องและสูญเสียบ้านที่อยู่อาศัยไปในที่สุด วิธีฝ่าวิกฤตเมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว คือวิธีประนอมหนี้กับสถาบันการเงินซึ่งมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.ขอผ่อนผันชำระยอดหนี้ค้างชำระ
กรณีนี้ลูกหนี้อาจขอผ่อนชำระคืนยอดหนี้ที่ค้างได้นานสูงสุด 36 เดือนติดต่อกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
1. การขอเฉลี่ยหนี้ค้างชำระทั้งหมดออกเป็นงวดๆ งวดละเท่ากันและผ่อนชำระคืนติดต่อกันทุกเดือน
2. เป็นการขอชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดในเวลาที่ตกลง และ
3. การขอชำระหนี้ที่ค้างเป็นเงินก้อนแบ่งเป็นงวดๆตามเวลาที่ตกลง
2.ขอขยายเวลาชำระหนี้
วิธีนี้ลูกหนี้สามารถขอขยายเวลากู้เงินต่อไปได้ถึง 30 ปีนับจากปัจจุบันเพื่อลดเงินงวดให้น้อยลง
3.ขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระ
เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดได้ ลูกหนี้สามารถขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระพร้อมกับขยายเวลากู้เงินได้
4.ขอชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือน
ในบางช่วงเวลาลูกหนี้อาจขอผ่อนชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือนได้ ปกติเงื่อนไขแบบนี้จะให้เฉพาะกับลูกหนี้ที่มีประวัติการส่งชำระคืนที่ดีเท่านั้น
5.ขอชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติ
เงื่อนไขการผ่อนผันแบบนี้มักกำหนดให้จำนวนเงินที่ชำระต่ำกว่าเงินงวดปกตินั้น ต้องมากกว่าดอกเบี้ยประจำเดือนอย่างน้อย 500 บาทระยะเวลาผ่อนชำระได้นานสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และขอดำเนินการได้ครั้งเดียว
6.ขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ
เป็นการขอผ่อนผันในกรณีที่ลูกหนี้ถูกปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นจากอัตราปกติ ลูกหนี้สามารถแจ้งขอลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ชำระเงินได้
7.ขอโอนบ้านให้กับสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว
ในกรณีลูกหนี้สามารถซื้อคืนภายหลัง ปกติสถาบันการเงินจะรับโอนหลักประกันโดยหักลบกลมหนี้ในจำนวนไม่เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าหลักประกัน หากมีหนี้ส่วนเกินลูกหนี้จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันโอน
8.ขอให้สถาบันการเงินชะลอฟ้อง
เงื่อนไขโดยทั่วไปก็คือลูกหนี้จะต้องชำระเงินติดต่อกันให้ทันงวดภายใน 6 เดือน แล้วผ่อนชำระต่อตามสัญญาเดิม หรือขอชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือนโดยไม่ผิดนัดเป็นเวลา 12 เดือน
9.ขอให้สถาบันการเงินถอนฟ้อง
เงื่อนไขก็คือลูกหนี้ที่ถูกฟ้องจะต้องติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้ทันงวดและไม่มีดอกเบี้ยค้าง พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายครบถ้วน
10.ขอให้ชะลอการขายทอดตลาด
ลูกหนี้ที่ถูกสถาบันการเงินยึดทรัพย์แล้วรอการขายทอดตลาด อาจเจรจาขอให้ชะลอการขายไว้ก่อนโดยลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายต่างๆในชั้นฟ้องคดีและบังคับคดีอย่างครบถ้วน และชำระหนี้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 งวด โดยหนี้ที่เหลือต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินหลักประกันใหม่ แล้วให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ใหม่
11.ขอยอมความกับสถาบันการเงิน
ลูกหนี้ที่ฟ้องคดีแล้ว อาจขอยอมความกับสถาบันการเงินได้โดยลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆอย่างครบถ้วน และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด เช่น ไถ่ถอนจำนองภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือขอกำหนดเงินงวดผ่อนชำระใหม่
12.ขอชะลอการยึดทรัพย์
ลูกหนี้อาจขอให้ชะลอการยึดทรัพย์ได้ โดยจะต้องชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน
13.ขอเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามสัญญากู้ใหม่ กู้เพิ่ม หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญา
โดยลูกหนี้ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายต่างๆในชั้นฟ้องคดีและชั้นบังคับคดีให้หมดเสียก่อน จากนั้นปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด
โดยปกติเมื่อเกิดวิกฤตและไม่สามารถผ่อนชำระค่าบ้านได้ ลูกหนี้มักปล่อยปัญหาโดยไม่มีการแก้ไขส่วนหนึ่งอาจไม่ทราบเงื่อนไขหรือไม่ทรายวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง วิธีฝ่าวิกฤตเมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว คือหลักปฏิบัติ เพียงศึกษารายละเอียดแล้วเลือกเงื่อนไขที่เหมาะกับตนเองให้มากที่สุด ก็สามารถแก้ไขปัญหาหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาสำหรับลูกหนี้ได้