4 ขั้นตอนพื้นฐานสำหรับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์
เทคนิคการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะนักธุรกิจมือใหม่ที่กำลังเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทาง “นักลงทุน” นอกจากจะต้องศึกษารูปแบบการลงทุนที่มีอยู่มากมายหลายช่องทางแล้ว ทุกรูปแบบของการลงทุนยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักธุรกิจว่าจะเลือกลงทุนอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใด 4 ขั้นตอนต่อไปนี้คือพื้นฐานที่ควรศึกษาเรียนรู้ก่อนการลงทุน
4 ขั้นตอนพื้นฐานสำหรับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์
1. ศึกษาแหล่งข้อมูลในการซื้อขาย
การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ นักธุรกิจจะต้องเป็นผู้รอบรู้และมีแหล่งข้อมูลที่ดีและมากพอ เพราะนั้นคือสิ่งที่จะทำให้การซื้อขายมีสภาพคล่องและเกิดรายได้หรือผลกำไร แหล่งข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป เช่น เว็บไซต์ประกาศซื้อประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ประกาศของสถาบันการเงิน ป้ายประกาศซื้อขาย และแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับการซื้อขายอสังหาฯ ก็คือ ข้อมูลจากนายหน้าซื้อขาย
2. วิเคราะห์ทำเล
การวิเคราะห์ทำเลเป็นขั้นตอนสำคัญ เพราะนอกจากทำให้มีความเสี่ยงน้อยลง ยังช่วยให้นักลงทุนรายใหม่ๆมีประสบการณ์ และยังมีผลต่อความสำเร็จในการลงทุน ทำเลที่นักลงทุนควรนำมาวิเคราะห์ ได้แก่ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สิ่งอำนวยความสะดวก ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม
3. วางแผนบริหารเงินทุน และจัดเตรียมทุนสำรอง
การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ มีทั้งการซื้อมาขายไป เป็นการลงทุนในระยะสั้น ซึ่งมีข้อดีก็คือสามารถทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว และการลงทุนในระยะยาวเช่นการซื้อมาเพื่อปล่อยเช่า ลักษณะการลงทุนในรูปแบบนี้อาจต้องใช้เงินทุนที่เรียกว่าเงินเย็น เพราะสามารถสร้างผลกำไรหรือทำให้มีรายได้ในระยะยาว แต่ต้องวางแผนบริหารเงินหรือจัดเตรียมทุนสำรองเนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่สามารถนำเงินมาหมุนเวียนได้
4. คาดการณ์ผลตอบแทนในการลงทุน
ขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการเตรียมตัวลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก็คือนักลงทุนต้องคาดการณ์ผลตอบแทนในการลงทุนในแต่ละครั้ง เช่น กำไรจากการขาย นักลงทุนควรรู้ว่าเมื่อใดควรขาย และสิ่งสำคัญยิ่งกว่า ก็คือ ต้องรู้ว่าเมื่อใดควรซื้อ หรือการคาดการณ์ผลตอบแทนจากการเช่า ก่อนลงทุนต้องดูตลาดก่อนว่าใครจะเช่าหรือมีใครเป็นผู้เช่า มีตลาดหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาคาดการณ์ผลตอบแทนในการลงทุนได้
การเป็นนักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างมืออาชีพ เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนเท่ากับขั้นตอนการวางแผน เพราะการวางแผนที่ดีนอกจากสามารถสร้างผลกำไรในการลงทุนได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ยังเป็นการบริหารเงินทุนที่มีอยู่ หรือทำให้การวางแผนขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการลงทุน และนำมาซึ่งผลตอบแทนหรือผลกำไรจากการลงทุนโดยปราศจากความเสี่ยง